“เลเซอร์”(Laser หรือ Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation) ถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์มายาวนานกว่า 30 ปี โดยในระยะแรกมุ่งเน้นในการรักษาโรค เช่นโรคมะเร็งหรือโรคผิวหนัง ต่อมาภายหลังได้มีการพัฒนาพลังงานจากแสงที่มีความเข้มสูง มาใช้ในด้านการดูแล รักษาผิวพรรณและความงามมากขึ้น จนเรียกได้ว่าเป็น “แสงมหัศจรรย์”เลยก็ว่าได้ นี่คือทางลัดของเทคโนโลยีสู่ผิวสวยแบบไร้แผลค่ะ
เลเซอร์คืออะไร?
Laser (Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation) คือการเพิ่มปริมาณคลื่นแสงโดยการกระตุ้นให้ปล่อยคลื่นแสงออกมาผ่านทางสื่อนำแสง ที่เป็นได้ทั้งของแข็ง ของเหลว ก๊าซ หรืออิเล็กตรอนอิสระ เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และได้รับการยอมรับว่าเป็นแสงที่บริสุทธิ์ที่สุด โดยมีลักษณะดังนี้
- เป็นแสงสีเดียว (monochromaticity)มีความยาวคลื่นเพียงค่าเดียว
- มีความพร้อมเพรียงของแสงที่ปล่อยออกมา (coherence)คลื่นของแสงจะเป็นเฟสเดียวกันทั้งหมด
- มีทิศทางที่แน่นอน (directionality)โดยลำแสงของเลเซอร์จะขนานกันไปตลอด
- มีความเข้ม (Intensity หรือ Brightness) สูงมาก เมื่อกระทบกับวัตถุ จะเกิดแสงระยิบระยับขึ้นที่มีความเข้มสูงกว่าพระอาทิตย์ ถ้าฉายแสงเข้าตามนุษย์โดยตรงสามารถทำให้ตาบอดได้
เลเซอร์(Laser) เริ่มต้นในปี ค.ศ 1917 โดยเริ่มตั้งแต่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ได้เสนอทฤษฎี Theory of stimulated emission of radiation ซึ่งพูดถึงโฟตอน(Photon) หรืออนุภาคของแสงที่สามารถกระตุ้นอะตอมหรือโมเลกุลให้ปล่อยโฟตอน(Photon)ที่มีลักษณะเหมือนกันออกมา หลังจากนั้น ในปี ค.ศ.1960 Maiman ได้ประดิษฐ์เครื่องเลเซอร์ที่มีต้นกำเนิดแสงเป็นผลึกทับทิมขึ้นมา และเรียกชื่ออย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า เลเซอร์ (Laser - Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation) ต่อมาได้มีนักวิชาการและทีมแพทย์ได้เริ่มศึกษา พัฒนา และใช้เลเซอร์ในการรักษาโรคผิวหนังหลายชนิด ด้วยข้อจำกัดของเครื่องมือที่มีกำลังต่ำ มีขนาดใหญ่ทำให้เกิดความยุ่งยากในการใช้งาน ได้นำไปสู่การประดิษฐ์เครื่องเลเซอร์ชนิดอาร์กอน(Argon) และคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด แต่ถึงกระนั้นก็ยังพบภาวะแทรกซ้อนทำให้เกิดแผลจากความร้อน(thermal injury) และรอยแผลเป็น ในปี ค.ศ. 1983 จากทฤษฏี “Selective photo thermolysis” ของ Anderson และ Parrish ได้นำไปสู่การพัฒนาลำแสงเลเซอร์ที่ทำลายเฉพาะจุดที่ต้องการและลดอันตรายของรังสีความร้อนที่จะทำลายเนื้อเยื่อข้างเคียง ทำให้เกิดเครื่อง Pulsed Dye Laser ซึ่งให้ผลดีในการรักษาโรคหลอดเลือดบางชนิด และยังนำไปสู่การประดิษฐ์เครื่องเลเซอร์ที่มีความกว้างของคลื่อนที่สั้นลงโดยอาศัยอุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่า Q – switch ซึ่งสามารถรักษาโรคที่เกี่ยวกับเซลล์สีของผิว และใช้ในการลบรอยสักอย่างแพร่หลาย นอกจากนั้น เลเซอร์ยังถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับสายตาด้วย เช่นสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง เป็นต้น
ประเภทของเลเซอร์
เราสามารถแบ่งประเภทของเลเซอร์ได้ตามการรักษาในกลุ่มโรคหรืออาการต่างๆได้ดังต่อไปนี้
- เลเซอร์ที่ใช้ในการกำจัดเนื้องอกที่ผิวหนัง ลอกแผลเป็น รอยย่น ได้แก่ Co2 Laser และ Erbium :YAG Laser เลเซอร์ประเภทนี้จะทำให้ผิวหนังลอกหลุดไป โดยไม่มีผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อผิวหนังหรือเนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบ
- เลเซอร์ที่ใช้ในการกำจัดเซลล์สีเพื่อรักษาปานดำ กระ รอยแผลเป็น รอยสัก ได้แก่ Q – switched ND YAG laser , Q – switched ruby laser และ Q – switched alexandrite laser เมื่อยิงเลเซอร์ในบริเวณที่ต้องการแก้ปัญหา จะมีสะเก็ดตื้นๆ หลังจากนั้นประมาณ 5-7 วันสีของรอยจะค่อยๆจางลง
- เลเซอร์ในการรักษาปานแดง หลอดเลือดขยาย หลอดเลือดขอด ได้แก่ Pulsed dye laser และ Long pulsed laser ในการรักษาอาการในลักษณะนี้ต้องทำซ้ำหลายๆครั้ง กรณีปานแดงชนิดที่หนาจะต้องรักษาร่วมกับเลเซอร์ที่ใช้ลอกผิว ส่วนหลอดเลือดขอด ต้องรักษาร่วมกับการใช้ยาหรือการผ่าตัด
- เลเซอร์ในการกำจัดขนถาวร ได้แก่ Long Pulsed ND Yag laser,Long Pulsed diode laser และ Long Pulsed Alexandrite laser
- เลเซอร์ในการลบรอยย่น แผลเป็น เลเซอร์ประเภทนี้จะให้แสงอินฟาเรด( Infrared) เช่น ND YAG ซึ่งสามารถกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นใต้ผิวได้เป็นอย่างดี จึงสามารถทำให้ผิวหนังตึงขึ้น โดยที่ผิวไม่ลอกได้
- เลเซอร์ที่แสงมีความเข้มสูง เช่น Intense Pulsed Light(IPL) ซึ่งจะต้องยิงผ่านระบบกรองแสง โดยเลือกช่วงคลื่นแสงให้เหมาะกับอาการที่จะรักษา จริงๆแล้ว วิธีนี้ไม่ใช้เลเซอร์โดยตรง แต่มีหลักการที่คล้ายคลึงกัน ใช้ในการลดเซลล์สี หลอดเลือด และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนไปพร้อมๆกัน
- แสงเลเซอร์เพื่อการผ่าตัดเสริมสวย เช่น Superpulsed Co2 laser และ Ultrapulsed Co2 laser ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาหนังตาหย่อน แก้ไขถุงไขมันใต้ตาเป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้น เรายังสามารถแบ่งประเภทของเลเซอร์จากลักษณะของแผล ดังนี้
- เลเซอร์ที่ทำแล้วไม่มีแผล (Non-ablative Laser) ในระหว่างยิงเลเซอร์จะรู้สึกอุ่นๆ แต่หลังจากที่ทำแล้วจะไม่มีสะเก็ดหรือบาดแผลใดๆ อาจมีแค่รอยแดงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากเลเซอร์กลุ่มนี้จะมีระบบทำความเย็นปกป้องอยู่ที่ผิวชั้นบน ไม่ให้ผิวได้รับผลกระทบจากพลังงานความร้อนจากเลเซอร์ เป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวเต่งตึง ช่วยในการลดริ้วรอย ทำให้ผิวกระชับขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดผลข้างเคียงน้อยมาก เลเซอร์ประเภทนี้ เช่น ND YAG Laser ,IPL,UPL เป็นต้น
- เลเซอร์ที่ทำแล้วมีแผล (Ablative Laser) เป็นการยิงเลเซอร์ไปยังบริเวณที่มีปัญหา โดยเลเซอร์จะแทรกผ่านเข้าไปในผิวชั้นกลาง ทำให้ผิวเรียบเนียนกระชับขึ้น และในการยิงเลเซอร์แต่ละครั้งจะช่วยกำจัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพออกไป เลเซอร์ประเภทนี้ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์(CO2 Laser) เป็นการยิงแสงที่มีความเข้มสูงเป็นจังหวะสั้นๆไปยังจุดที่มีปัญหา ส่วนใหญ่จะใช้ในการรักษารอยแผลเป็นที่ลึกและหนา จี้ขี้แมลงวัน ไฝ กระเนื้อ หูด หลังจากการทำอาจมีแผลเล็กหรือสะเก็ดเกิดขึ้นได้
นอกจากนั้น เลเซอร์ยังสามารถแบ่งประเภทได้ตามวัตถุประสงค์การใช้งานได้อีกด้วย ดังนี้
- ใช้ในการผ่าตัด หรือการห้ามเลือด (Cutting Laser) โดยส่วนใหญ่จะใช้ในการผ่าตัดที่เสี่ยงต่อการเสียเลือดมาก เช่นก้อนเนื้องอกในเส้นเลือด โดยศัลยแพทย์จะใช้ เลเซอร์นีโอดีเนียมแย๊ก (Neodymium YAG Laser) ที่มีประสิทธิภาพทะลุผ่านเนื้อเยื่อได้สูงและมีคุณสมบัติในการห้ามเลือดได้ดี เป็นต้น
- ใช้ในการฟื้นฟูผิวพรรณและความงาม ( Aesthetic and Rejuvenation Laser ) เลเซอร์ประเภทนี้ ก็เช่น UPL Laser , Q Switch Laser ,HIFU และ Long Pulsed ND YAG เป็นต้น
- ใช้เพื่อการรักษา ระงับอาการปวด กระตุ้นการสร้างเซลล์ผิว ( Laser Therapy ) ใช้ในส่วนของกล้ามเนื้อ กระดูก หรือเส้นประสาท ที่กำลังเป็นที่นิยมกันขณะนี้คือ High Power Laser เป็นต้น
เลเซอร์กับศัลยกรรมและความงาม
ในบทความนี้เราจะเน้นในเรื่องของการใช้เลเซอร์ที่เกี่ยวกับผิวหนัง ศัลยกรรม และความงาม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะสามารถเลือกใช้เลเซอร์ได้อย่างตรงจุดและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
- การใช้เลเซอร์เพื่อช่วยกระตุ้นผิวพรรณให้ปล่งปลั่ง ผิวเต่งตึง Skin Rejuvenation and Skin Tightening ) ทั้งสภาพผิวที่หย่อนคล้อยตามกาลเวลา และที่เกิดจากสภาวะแวดล้อม รวมถึงการเพิ่มความเต่งตึงให้กับผิวหน้า โดยเลเซอร์จะช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและอิลาสติน( Collagen and Elastin ) ที่เกี่ยวข้องกับความยืดหยุ่นของผิวให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีที่นิยมคือ HIFU ถึงแม้จะไม่ใช่เลเซอร์โดยตรง แต่จัดอยู่ในหมวดหมู่ที่ใช้คลื่นอัลตร้าซาวน์ในการยกกระชับหน้า พลังงาน HIFU จะทำให้เกิดแผลขนาดเล็กมากที่ผิวชั้นใน เป็นการเร่งให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเอง ทำให้หน้าตึง กระชับขึ้น เป็นต้
- การใช้เลเซอร์ช่วยลดคีลอยด์และรอยแผลเป็นที่เกิดขึ้น ( Scar Reduction ) การฉายลำแสงเลเซอร์ไปยังบริเวณที่เป็นรอยแผล จะทำให้ความนูนของแผลลดลง แผลนิ่มขึ้น
- การใช้เลเซอร์รักษาหลุมสิว (Atrophic scar ) ส่วนใหญ่จะเป็นเลเซอร์ประเภท Fractional Co2 โดยจะช่วยผลัดเซลล์เซลล์ผิวเดิมออก ทำให้ผิวเรียบ สีผิวสม่ำเสมอ ที่นารดาคลินิก เรามีโปรแกรม Re new Skin Laser ที่มีประสิทธิภาพช่วยรักษาหลุมสิวโดยเฉพาะ ช่วยกระชับรูขุมขน ทำให้หลุมสิวตื้นขึ้น และนอกจากนั้น ยังมีโปรแกรม Scar Free ด้วยเทคโนโลยีแฟรคทรอร่า (fractora) ที่สามารถรักษาปัญหาที่เกี่ยวกับโครงสร้างของผิว เช่นหลุมสิว โดยจะมีการปล่อยพลังงานในรูปแบบของ Fractional RF ที่อาจจะไม่ใช่เลเซอร์โดยตรง แต่เป็นลำแสงที่มีขนาดเล็กลงสู่ผิว สามารถช่วยขจัดเซลล์เม็ดสีส่วนเกินพร้อมทั้งเร่งการสร้างคอลลาเจนขึ้นใหม่ได้ด้วย
- การใช้เลเซอร์รักษาความผิดปกติของเม็ดสี (Melanin Pigment) ที่อยู่ระหว่างชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ จะช่วยให้ผิวหนังมีสีผิวที่สม่ำเสมอขึ้น ไม่ว่าจะฝ้า กระ หรือจุดด่างดำ เลเซอร์ที่เป็นที่นิยมก็เช่น Q -Switch Laser ซึ่งช่วยได้ดีในปัญหาที่เกี่ยวกับเม็ดสี เพราะจะช่วยในการยิงเม็ดสีให้แตกกระจาย นอกจากนั้นยังช่วยรอยดำรอยแดงที่เกิดจากสิว ฝ้าเลือด ให้ผลกระทบต่อผิวโดยรอบไม่มาก รวมถึง การใช้ UPL Laser ในการปรับสีผิวให้เรียบเนียนด้วย
- การใช้เลเซอร์รักษารอยแดง รอยดำที่เกิดจากสิว ( Post Acne Scan) รอยต่างๆเหล่านี้เกิดจากการที่โครงสร้างของคอลลาเจนหดตัว หรือมีเลือดมาหล่อเลี้ยงในปริมาณที่มากหลังเกิดแผล เลเซอร์ที่นำมารักษาจะอยู่ในกลุ่มของ Pulsed Dye Laser จะช่วยให้หลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงบริเวณดังกล่าวฝ่อไป พร้อมทั้งกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน ทำให้รอยสิวจางลง และเทคโนโลยีอีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้คือ IPL ซึ่งเป็นการรวมตัวของแสงสเปกตรัม ซึ่งเป็นลำแสงที่มีวงกว้าง ดังนั้นอาจจะทำให้ผิวบริเวณใกล้เคียงได้รับผลกระทบด้วย เช่นอาจทำให้ผิวไหม้ แดง หรือบวมได้ เนื่องด้วยข้อจำกัดที่ส่งผลต่อผิวของ IPL ทำให้มีการพัฒนาต่อยอดมาใช้เครื่อง UPL กันมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อสิว รอยดำ รอยแดงที่เกิดจากสิว เป็นต้น
- การใช้เลเซอร์ในการกำจัดขน(Hair Remover) ที่ใบหน้า แขนขา หรือบริเวณรักแร้ โดยเลเซอร์สามารถยับยั้งการงอกขึ้นมาใหม่ของขนได้ เลเซอร์ที่นิยมใช้ในการกำจัดขนคือ Long-Pulsed Nd Yag ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผิว และให้ผลดีด้วยเช่นกันค่ะ
- เครื่องฉายแสง LED ส่วนใหญ่จะใช้ในการทำศัลยกรรม ซึ่งการใช้แสงสีเหลือ แสงสีแดงและรังสี Near – Infrared จะช่วยรักษาและเร่งการหายของแผล ลดบวม ลดช้ำ กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต และฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้
ผลข้างเคียงจากการทำเลเซอร์
แม้การทำเลเซอร์จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องผิวพรรณ แต่ก็มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ดังต่อไปนี้
- เกิดรอยแดง บวม หรือระคายเคือง โดยส่วนใหญ่อาการระคายเคืองและบวมจะค่อยๆหายไป แต่รอยแดงอาจจะต้องใช้เวลา ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับระดับความลึกของเลเซอร์ที่ยิงเข้าไปด้วย
- สีผิวในบริเวณที่ทำเลเซอร์เปลี่ยนไปจากเดิม แต่หลังจากนั้นจะค่อยๆเป็นปกติ ในบางกรณีอาจมีการใช้ยาทานร่วมด้วย เช่นวิตามินเอหรือกรดไกลโคลิค (Glycolic Acid)
กลุ่มคนที่เสี่ยงในการทำเลเซอร์
กลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถเข้ารับการทำเลเซอร์ได้ และต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ ดังนี้
- ผู้ที่เคยใช้ยารักษาสิว ไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin)
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ผู้ที่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการฉายรังสีที่ใบหน้า
- สตรีมีครรภ์หรือสตรีที่กำลังให้นมบุตร
การเตรียมตัวก่อนทำเลเซอร์ผิวหนัง
มีข้อควรปฏิบัติที่ผู้ที่จะทำเลเซอร์ต้องทราบและทำความเข้าใจ พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้ค่ะ
- ปรึกษาแพทย์โดยตรง เพื่อขอคำแนะนำในเบื้องต้น พร้อมทั้งแจ้งอาการอย่างละเอียด เพื่อนำไปสู่การรักษาต่อไป
- ตรวจร่างกาย เพื่อแพทย์จะได้ใช้ในการวินิจฉัยเพื่อรักษาตามอาการต่อไป
- หยุดใช้ยาบางประเภท เช่น แอสไพริน หรือวิตามินอี ก่อนทำเลเซอร์ประมาณ 10 วัน เนื่องจากยาและวิตามินดังกล่าวทำให้เลือดหยุดยาก
- หยุดสูบบุหรี่ประมาณ 2 สัปดาห์ทั้งก่อนและหลังทำเลเซอร์ เพราะจะทำให้ฟื้นตัวได้ช้า
- เลี่ยงการออกแดดและควรใช้ครีมกันแดดทุกครั้ง เพราะแสงแดดอาจจะทำให้ผิวหนังส่วนที่จะทำเลเซอร์นั้นเปลี่ยน ทำให้สีผิวไม่สม่ำเสมอกัน
ข้อควรปฎิบัติหลังทำเลเซอร์
หลังจากที่ทำเลเซอร์แล้ว มีข้อควรปฏิบัติที่จะช่วยให้การรักษาได้ผลดีดังต่อไปนี้
- เลี่ยงการออกแดด ปกป้องส่วนที่ทำเลเซอร์ด้วยการใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด สวมหมวก หรือกางร่ม และควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดดหรือ SPF 50+++ ขึ้นไป
- บำรุงผิวให้มีความชุ่มชื่นอยู่เสมอ
- หยุดสูบบุหรี่ประมาณ 2 สัปดาห์หลังทำเลเซอร์
- สำหรับผู้ที่ใช้ยารักษาสิวที่มีส่วนผสมของกรดไกลโคลิด ต้องหยุดใช้ก่อนประมาณ 6 สัปดาห์หรือตามแพทย์สั่ง
เลเซอร์ ทางลัดที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องผิวพรรณในเวลาอันสั้น รวดเร็ว พร้อมให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น พร้อมทั้งศึกษาและเลือกใช้ประเภทของเลเซอร์ให้เหมาะกับสภาพปัญหาของคุณด้วยนะคะ ยุคนี้สวยเท่านั้นไม่พอ..แต่ต้องปลอดภัยด้วยค่ะ!!